องค์การการค้าโลก (WTO) ได้อนุญาตให้ประเทศแอนติกัวและบาร์บูดา ประเทศเกาะในทะเลแคริบเบียน ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐอเมริกา เป็นมาตรการตอบโต้จากการที่สหรัฐละเมิดข้อตกลงการค้าเสรีโดยการแบนผู้ให้บริการการพนันจากต่างประเทศ
ข้อพิพาทระหว่างแอนติกัวและบาร์บูดา กับสหรัฐ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2003 โดยแอนติกัวและบาร์บูดาได้ร้องเรียนกับองค์การการค้าโลกว่า กฎหมายของสหรัฐที่ห้ามบริการการพนันจากต่างประเทศนั้น ขัดต่อข้อผูกพันของสหรัฐภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งในปี 2005 คณะผู้พิจารณาของ WTO ก็ได้ตัดสินว่า กฎหมายสหรัฐที่อนุญาตให้มีการพนันการแข่งม้าจากผู้ให้บริการในประเทศเท่านั้น เป็นการผิดข้อตกลงที่สหรัฐได้ให้ไว้
หลังจากที่สหรัฐไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเวลาที่กำหนด ในปี 2007 องค์การการค้าโลกก็ได้กำหนดมาตรการโต้ตอบ โดยให้แอนติกัวและบาร์บูดาสามารถระงับข้อผูกพันที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ที่มีต่อสหรัฐอเมริกา ในมูลค่าไม่เกินปีละ 21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าที่ขอไป 3.44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2013 รัฐบาลแอนติกัวก็ประกาศว่า หลังจากที่ได้รับการอนุญาตเบื้องต้นเมื่อปี 2007 และพยายามเจรจากับรัฐบาลสหรัฐหลังจากนั้นแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็ได้รับอนุญาตจาก WTO ให้ดำเนินการระงับข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญากับสหรัฐได้
เว็บไซต์ข่าวหลายแห่ง (รวมถึง TorrentFreak) รายงานในลักษณะว่า แอนติกัวจะเปิดเว็บไซต์ที่ให้ดาวน์โหลดบรรดาสินค้าลิขสิทธิ์ของสหรัฐ (แบบเสียเงิน แต่ไม่ต้องแบ่งให้เจ้าของ)
แม้ว่า WTO จะไม่ได้มีอำนาจบังคับให้รัฐสมาชิกทำตามคำตัดสินตรงๆ แต่กฎของ WTO อนุญาตให้รัฐบาลสามารถออกมาตรการกีดกันทางการค้าตอบโต้ (จากที่ปรกติขัดต่อกฎการค้าเสรี) เป็นเหมือนการเรียกค่าเสียหายจากคู่พิพาท ซึ่งปรกติแล้วจะอยู่ในรูปแบบของอนุญาตให้ขึ้นกำแพงภาษีกีดกันได้ แต่ในกรณีนี้ เนื่องด้วยประเทศนั้นเล็กมาก ทำให้คำตัดสินเลือกที่จะอนุญาตมาตรการตอบโต้แบบอื่นที่สามารถต่อรองกับสหรัฐได้
รัฐบาลแอนติกัวและบาร์บูดาอ้างว่า กฎหมายกีดกันของสหรัฐนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของแอนติกัวและบาร์บูดาอย่างรุนแรง โดยจากที่เคยมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้กว่า 4,000 คน (จากประชากร 80,000 คน) ก็ลดเหลือเพียง 500 คนเท่านั้น
ที่มา - Reuters, Ars Technica, Government of Antigua and Barbuda, WTO