ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ เพิ่มค่าใช้จ่าย-ลดหย่อน มีผลปี60

ในวันนี้ (19 เมษายน 2559) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ โดยมีสาระสำคัญคือการเพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนต่างๆ ในการนำไปคำนวณภาษี โดยจะมีผลบังคับใช้สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 (ปีหน้า) เป็นต้นไป
รายละเอียดการปรับปรุงโครงสร้างภาษีแบบใหม่นี้ มีสาระสำคัญ ได้แก่
- เพิ่มการหักค่าใช้จ่าย ของเงินได้ 40 (1) และ (2) จากเดิมเหมาจ่าย 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น เหมาจ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
- เพิ่มการหักค่าใช้จ่าย ของเงินได้ 40 (3) จากเดิมเหมาจ่าย 40% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท เป็น เหมาจ่าย 50% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท
- เพิ่มค่าลดหย่อนผู้มีเงินได้ จาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
- เพิ่มค่าลดหย่อนคู่สมรสผู้มีเงินได้ จาก 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท
- เพิ่มค่าลดหย่อนบุตร จากเดิมคนละ 15,000 บาท ไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวน (ข้อนี้บ่งชี้ว่า เป็นการสนับสนุนให้คนมีบุตรเพิ่มขึ้น)
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงขั้นของเงินได้และอัตราภาษีบุคคลธรรมดา โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ขั้นภาษี 30% และ 35% โดยที่ 30% จากเดิมช่วง 2-4 ล้านบาท ขยายเป็น 2-5 ล้านบาท และช่วง 35% จากเดิม 4 ล้านบาทขึ้นไป เป็น 5 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งสำหรับอัตราภาษีใหม่ได้ดังนี้
- เงินได้สุทธิ 1-300,000 บาท ภาษี 5% (150,000 บาทแรก ยังคงยกเว้นภาษีต่อไป)
- 300,001-500,000 บาท ภาษี 10%
- 500,001-750,000 บาท ภาษี 15%
- 750,001-1,000,000 บาท ภาษี 20%
- 1,000,001-2,000,000 บาท ภาษี 25%
- 2,000,001-5,000,000 บาท ภาษี 30%
- 5,000,001 บาทขึ้นไป ภาษี 35%
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
2 Comments
คนมีเงินเดือนประจำก็ต้องมีรายได้เท่ากับ (150,000+100,000+60,000)/12 = 25,833.33 บาท/ต่อเดือน ถึงจะเสียภาษีถูกมั้ยครับ (ไม่รวมหักประกันสังคม หรือลดหย่อนอื่น ๆ)
อย่างนี้รายได้จากการเก็บภาษีก็ลดลงสิครับ...