รีวิวหนังสือ The Girl with Seven Names เรื่องราวของเกาหลีเหนือที่มากกว่าชีวิตที่ลำบาก

หนังสือเกี่ยวกับเกาหลีเหนือดังๆ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีอยู่ในตลาดหลายเล่ม ส่วนมากมักบรรยายถึงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย ในกรณีของ Escape from Camp 14 หนักหนากว่าเล่มอื่นๆ เพราะเป็นประสบการณ์จากในคุกของเกาหลีเหนือ แต่เล่มล่าสุดคือ The Girl with Seven Names ของ Hyeonseo Lee แสดงด้านที่่ต่างออกไป
Hyeonseo โด่งดังมาจากการพูดใน TED เมื่อปี 2013 เรื่องราวของเธอกลายเป็นหนังสือ เล่มนี้
TL;DR หนังสือสนุกเหมือนนิยายสามารถไปหามาอ่านเอาบันเทิงได้แม้ไม่ได้สนใจเรื่องของการเมืองและสิทธิมนุษยชน (ต่อจากนี้อาจจะสปอยเนื้อหา หากกังวลควรหยุดอ่านบทความนี้)
Hyeonseo ไม่ได้หนีออกจากเกาหลีเหนือเพราะทนไม่ได้ต่อความเลวร้าย แม้เธอจะรับรู้ว่าสังคมที่เธออยู่มีกฎที่เข้มงวด การศึกษาที่มุ่งเน้นให้ทุกคนจับผิดกันเองและฟ้องกันไปมา และมีการแบ่งชนชั้นตามความภักดีของตระกูลตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี แต่ครอบครัวของเธอกลับอยู่ในลำดับค่อนข้างบน เธอมีสิทธิ์เหนือกว่าคนอื่นๆ รอบตัว ครอบครัวของเธอมีกินมีใช้ สามารถเข้าถึงสินค้าต่างประเทศได้
การออกจากเกาหลีเหนือของเธอเป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นด้วยความตั้งใจว่าจะออกไปไม่กี่วันเพื่อเห็นโลกที่เธออาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นอีก
แผนการออกไปเห็นโลกกว้างไม่กี่วันของเธอกลายเป็นการเดินทางที่เปลี่ยนเส้นทางไปตลอดชีวิต เธอต้องอยู่ในจีนไปอีกถึงสิบกว่าปี กว่าจะได้ไปยังเกาหลีใต้และพาครอบครัวของเธอออกมาในที่สุด
เรื่องราวใน The Girl with Seven Names ไม่ใช่การบรรยายความยากลำบากในชีวิต ตรงกันข้าม เราจะพบว่าชีวิตของ Hyeonseo นั้นไม่ได้แย่เกินไปนัก เธอมีช่วงเวลาลำบากเป็นช่วงๆ แต่สามารถผ่านมันมาได้ด้วยความช่วยเหลือที่มักจะมาทันเวลา เธอพบกับคนที่ช่วยเหลือเธออย่างจริงจัง (แม้จะหวังเงินตอบแทน) แต่ก็เป็นความช่วยเหลือที่จริง
แม้ว่าจะออกมาสู่โลกกว้าง มีชีวิตที่ดีพอสมควร แต่เธอก็ยังคิดถึงโอกาสที่จะกลับไปสู่เกาหลีเหนือ
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเรื่องของการเอาตัวรอด จากประเทศที่ถือว่าการหลบหนีออกจากประเทศเป็นโทษสถานหนัก คนที่ถูกส่งกลับอาจจะต้องถูกส่งกลับเข้าคุกครอบครัวจะถูกบันทึกประวัติว่ามีผุ้ทรยศในครอบครัว ส่งผลกระทบไปถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวในอนาคต
ช่วงท้ายของหนังสือแสดงให้เห็นว่าการที่ชาวเกาหลีเหนือได้รับสัญชาติเกาหลีใต้และได้โอกาสใหม่ในโลกเสรี ไม่ใช่ตอนจบที่สวยงามของการเดินทาง แต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ยากลำบาก และต้องอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างเข้มข้นมาตั้งแต่เด็ก พวกเขาชินกับการทำงานตามมอบหมายของราชการ ซึ่งมักได้งานตามระดับชั้นของตระกูล การแยกประเทศไปถึงหกสิบปีทำให้เครือญาติของสองฝั่งห่างเหินกันขึ้นเรื่อยๆ ญาติพี่น้องนอกประเทศของชาวเกาหลีใต้กลับเป็นชาวจีน-เกาหลีที่ยังมีการแลกเปลี่ยนและพบปะกันบ้าง ชีวิตของชาวเกาหลีเหนือที่ต้องปรับตัวกับตัวตนใหม่จึงเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่ต้องตั้งรกรากในประเทศที่ตัวเองถูกสอนมาว่าเป็นศัตรูตลอดชีวิต
หนังสือเรียบเรียงเรื่องได้อย่างสนุก เดินเรื่องอย่างเป็นจังหวะ และชวนให้ติดตาม มันสนุกจนบางตอนผมรู้สึกผิดที่สนุกกับมันเพราะในหนังสือคือชีวิตคนจริงๆ ที่ต้องประสบความลำบาก เมื่อกลับมามองเนื้อหา เราพบว่าที่จริงแล้วชาวเกาหลีเหนือต้องการความช่วยเหลืออีกมาก ทั้งกระบวนการระหว่างทาง การกดดันในระดับนานาชาติให้ชาติระหว่างทางช่วยเหลือและไม่ส่งตัวกลับ และเมื่อพวกเขาได้โอกาสกับตัวตนใหม่ในเกาหลีใต้ระยะเวลาปรับตัวและการศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเผชิญโลกทุนนิยมเสรี ที่ให้อิสระภาพไปพร้อมกับการแข่งขันที่โหดร้ายได้ดียิ่งขึ้น
The Girl with Seven Names ได้รับคะแนนในเว็บ Goodreads ถึง 4.5/5 ผมเองถือว่ามันเป็นหนังสือด้านสังคมการเมืองที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในปีนี้ มันอ่านได้ง่ายไม่น่าเบื่อขณะเดียวกันก็ชวนให้คิดว่าเราควรทำอะไรให้กับชุมชนโลกเมื่อยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สภาพสังคมและความเป็นอยู่ถดถอยกว่าที่เราเป็นนับสิบปี